RSS

Histoire de France

26 ธ.ค.

ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

 

1. ที่มาและประวัติของชื่อ

คำว่า ฝรั่งเศส (France) มาจากภาษาละติน Francia ซึ่งแปลตามตรงว่า ดินแดนแห่งแฟรงค์ (Frankland) และมีหลายทฤษฎีที่สันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า แฟรงค์ (Franks) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคำในภาษาโปรโต-เยอรมัน Frankon ซึ่งแปลว่า หลาว หอก หรือทวนซึ่งเป็นอาวุธของพวกแฟรงค์ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ฟรานซิสกา (Francisca)
อีกทฤษฎีหนึ่งตามหลักนิรุกติศาสตร์คือในภาษาเยอรมันโบราณ คำว่า แฟรงค์ แปลว่า อิสระ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นทาส โดยคำดังกล่าวยังคงปรากฏในภาษาฝรั่งเศสปัจจุบันในรูป ฟรังก์ (Franc) ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศฝรั่งเศสจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสกุลเงินยูโรในปี พ.ศ. 2545
ในปัจจุบันประเทศเยอรมนียังเรียกประเทศฝรั่งเศสว่า Frankreich ซึ่งแปลว่า อาณาจักรแห่งแฟรงค์ อีกด้วย

2. ประวัติศาสตร์

ชาวฝรั่งเศสสืบเชื้อสายมาจากพวกโกลในศตวรรษที่ 1 จากนั้นตกมาอยู่ใต้การปกครองของพวกแฟรงก์ (ชื่อประเทศ France มาจากคำว่าแฟรงก์เช่นกัน) ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ที่มีบันทึกว่าเริ่มในศตวรรษที่ 5 เมื่อพระเจ้าชาร์เลอมาญตั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 843 ก็มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี
ราชสำนักฝรั่งเศสขึ้นสู่จุดสูงสุดในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งในยุคนี้ฝรั่งเศสได้เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป และมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจศิลปะ และ วัฒนธรรม ต่อยุโรปเป็นอย่างมาก

ฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบกษัตริย์จนถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16ในปี ค.ศ. 1792 จึงเปลี่ยนมาใช้ระบอบสาธารณรัฐ หลังจากนั้นนโปเลียน โบนาปาร์ตได้ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิและรุกรานประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป เมื่อนโปเลียนพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสจึงกลับมาใช้ระบบสาธารณรัฐอีกครั้ง เรียกว่ายุคสาธารณรัฐที่สอง แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะหลุยส์ นโปเลียน หลานลุงของนโปเลียนได้ยึดประเทศและตั้งจักรวรรดิที่สองอีกครั้ง
ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง ทศวรรษที่ 60 ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม จักรวรรดิฝรั่งเศสมีพื้นที่ใหญ่มาก โดยช่วงที่ใหญ่ที่สุดคือช่วงยุคทศวรรษที่ 20 ถึง 30 ซึ่งมีกว่า 12,898,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นจักรวรรดิอันดับสองของโลก รองมาจากจักรวรรดิอังกฤษ
ฝรั่งเศสได้รับความบอบช้ำอย่างหนักจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง ปัจจุบันใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีทั้งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี (เรียกยุคสาธารณรัฐที่ห้า) ทศวรรษที่ผ่านมาฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำของการรวมตัวตั้งประชาคมยุโรป ซึ่งพัฒนามาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ฝรั่งเศสยังเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง

 

 

3. การปฏิวัติ

      Les états généraux
ในปี พ.ศ. 2331 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภา les états généraux(สภาฐานันดร)ซึ่งมีการประชุมครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2157 ก่อนหน้าการประชุม ได้มีการถวายฎีกาทั่วประเทศ มีการควบคุมและห้ามการเผยแพร่ใบปลิวที่มีเนื้อหาเสรีจนน่าจะเป็นอันตราย เนคเกร์ที่ถูกเรียกกลับมาดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2331 ได้เรียกร้องให้มีการเพิ่มจำนวนตัวแทนจากชนชั้นที่ 3 ให้มากขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะจำนวนตัวแทนในขณะนั้นมีน้อยเกินไป และเขายังเรียกร้องให้ปลดตัวแทนบางส่วนจากชนชั้นที่ 1 และ 2 อีกด้วย
สภาฐานันดร (les états généraux) ได้มีการประชุมที่พระราชวังแวร์ซายส์ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2332 การประชุมครั้งนี้ใช้ระบบลงคะแนนคือ 1 ฐานันดรต่อ 1 เสียง ซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะฐานันดรที่สามซึ่งมีจำนวนถึง 90% ของประชากรกลับได้คะแนนเสียงเพียง 1 ใน 3 ของสภา และวิธีการลงคะแนนนี้จะทำให้ฐานันดรที่สามไม่มีทางมีเสียงเหนือกว่า 2 ฐานันดรแรก โดยเสนอให้ลงคะแนนแบบ 1 คน 1 เสียงแทน เมื่อข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธ ทำให้ตัวแทนฐานันดรที่ 3 ไม่พอใจเป็นอย่างมากจึงไม่เข้าร่วมการประชุม และไปตั้งสภาของตนเองเรียกว่าสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งเปิดประชุมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ปีเดียวกัน. สภานี้ยังมีตัวแทนจากฐานันดรที่ 1, 2 บางส่วนเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ตัวแทนส่วนใหญ่ของชนชั้นนักบวช และตัวแทนที่เป็นขุนนางหัวสมัยใหม่นำโดยมิราโบ
สมัชชาแห่งชาตินี้ประกาศว่า สภาของตนเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขึ้นภาษี เนื่องจากไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ที่สนับสนุนแต่ขุนนางและพระสงฆ์ พระเจ้าหลุยส์พยายามหาทางประนีประนอมโดยเสนอว่าจะจัดประชุมสภาฐานันดร (les états généraux) ขึ้นอีกครั้งพวกขุนนางและพระสงฆ์ตอบตกลง แต่สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม โดยไปจัดการประชุมของตัวเองขึ้นที่สนามเทนนิส (สมัยนั้นเรียกว่า Jeu de paume) ในวันที่ 20 มิถุนายน โดยมีมติว่าจะไม่ยุบสภานี้จนกว่าประเทศฝรั่งเศสจะได้รัฐธรรมนูญ

 3.1 เปิดฉากการปฏิวัติ
หลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกกดดันจากกองทัพ พระองค์ก็ทรงเรียกร้องให้ตัวแทนจาก 2 ฐานันดรแรกเข้าร่วมประชุมสภา Assemblée Nationale ด้วยเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดสภาใหม่ในวันที่ 9 กรกฎาคมคือ Assemblée Nationale Constituante เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ
3.2 การยึดคุกบาสตีย์
การโจมตีคุกบาสตีย์
แต่หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสก็ได้รับการกดดันอีกครั้งจากพระนางมารี อองตัวเนต และน้องชายของพระเจ้าหลุยส์คือ Comte d’Artois ซึ่งจะได้เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศสในอนาคต ทำให้พระองค์ทำการเรียกกองทหารที่จงรักภักดีต่อพระองค์จากต่างประเทศเข้ามาประจำการในกรุงปารีสและพระราชวังแวร์ซายส์ ทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ยังทรงปลดเนคเกร์ลงจากตำแหน่งอีกครั้ง ทำให้ประชาชนออกมาก่อจลาจลเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม และยึดคุกบาสตีย์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์พระราชอำนาจของกษัตริย์ได้ในวันที่ 14 กรกฎาคม
หลังจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ก็เรียกเนคเกร์มาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม เนคเกร์ได้พบกับประชาชนที่ศาลาว่าการกรุงปารีส (l’Hôtel de Ville) ซึ่งถูกประดับไปด้วยธงสามสีคือแดง ขาว น้ำเงิน วันเดียวกันนั้น Comte d’Artois ก็ได้หนีออกนอกประเทศ ถือเป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรก ๆ ที่หนีออกนอกประเทศในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
หลังจากนั้นไม่นาน เทศบาลและกองกำลังติดอาวุธของประชาชน (Garde Nationale) ก็ได้ถูกตั้งขึ้นอย่างรีบเร่งโดยประชาชนชาวปารีส โดยในไม่ช้าทั่วประเทศก็มีกองกำลังติดอาวุธของประชาชนตามอย่างกรุงปารีส กองกำลังนี้อยู่ใต้การบัญชาการของนายพลเดอลาฟาแยตต์ ซึ่งท่านผู้นี้เคยร่วมรบในสงครามกู้อิสรภาพของสหรัฐอเมริกามาก่อน เมื่อพระเจ้าหลุยส์เห็นว่าทหารต่างชาติไม่สามารถรักษาความสงบไว้ได้ ก็ทรงปลดประจำการทหารเหล่านั้น

  3.3 ผลของการปฏิวัติในช่วงแรก
สภา Assemblée Nationale ได้ประกาศว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และล้มเลิกสิทธิการงดเว้นภาษีของคณะสงฆ์ รวมทั้งให้ทุกคนมีโอกาสในการประกอบอาชีพทุกอย่างเท่าเทียมกัน ภายหลังจากการลงมติของสภาฯ ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ คือวันที่ 3-4 สิงหาคม 2332 ซึ่งได้รับมติสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกสภา

  3.4 คำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง หรือ La déclaration des droits de l’homme et du citoyen
เป็นคำประกาศที่ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญารู้แจ้ง (Enlightened) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น และคำประกาศนี้ได้แบบอย่างจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ คำประกาศนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2332 มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “เสรีภาพ,เสมอภาค,ภราดรภาพ” ท ในขณะนั้นมีข่าวลือในหมู่ประชาชนว่าจะมีการยึดอำนาจคืนของฝ่ายนิยมระบอบเก่าเมื่อชาวปารีสรู้ข่าวก็มีการตื่นตัวกันขนานใหญ่ ดังนั้นประชาชนชาวปารีสซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง ได้เดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์และเชิญพระเจ้าหลุยส์พร้อมทั้งราชวงศ์มาประทับในกรุงปารีส ในวันที่ 5-6 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่อนุรักษ์นิยมตามเสด็จกลับกรุงปารีสด้วย
สำหรับสภา Assemblée Nationale ในขณะนั้นประกอบด้วยสมาชิกที่หัวก้าวหน้าเป็นส่วนมาก แต่มีภารกิจสำคัญอันดับแรกของสภาคือการดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ดังนั้นจึงยังไม่มีการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น

ที่มา:www.sanookholiday.com/ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

 

ใส่ความเห็น